Tamaのブログ

Tamaのブログ

牛と真空管

Amebaでブログを始めよう!
สมัยนี้โชคดีหน่อยที่หาอุปกรณ์ที่เคยหายากได้ง่ายกว่า พวกซ็อกเก็ต ที่ต่างไปจากหลอด Commercial และ Grid Cap Plate Cap แต่หลอดเริ่มหายากขึ้น แต่ก็มีเอาออกมาขายในราคาที่จับต้องได้ เมื่อก่อนหลอดแบบ Side Contact นั้นผมเห็นแล้วไม่อยากได้เพราะหาเซ็กเก็ตยากเหลือเกิน ตอนนี้ซ็อกเก็ตแบบนี้ก็มีมาขายแล้ว เราเลยได้เห็นคนที่เขามีหลอดแบบ Side Contact อยู่ในมือเอาออกมาต่อแอมป์ให้ได้ฟังกัน
ตอนที่มีคนค้นหาหลอดในบ้านหม้อและคลองถมนั้น ผมเองก็เคยไปเดินหาหลอดบ้างบางครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งผมพบ GL5670 ขาทองหลอดเล็กๆ คล้ายๆ WE417A ช่วงนั้นผมไม่รู้จักหลอดเบอร์นี้และถามคนที่ขายว่าเอาไปทำแอมป์ได้หรือเปล่า เขาไม่ตอบอะไรแต่บอกว่าเหมากองห้าร้อย ทั้งกองมีหลายหลอดเป็นเบอร์เดียวกันหมด ในที่สุดเมื่อยังไม่รู้ว่าทำอะไรได้บ้างก็เลยไม่ซื้อและมองว่าเอาหลอดมากขนาดนั้นมาเก็บไว้คงจะใช้ไม่หมด ปล่อยเอาไว้ให้คนที่เขารู้วิธีใช้มาซื้อไปน่าจะดีกว่า แล้วผมก็ไปซื้อหลอด 5Y3GT ในราคาหลอดละสองร้อยห้าสิบห่างจากตรงนั้นไปไม่ไกลนักที่ซื้อเพราะถามหาหลอด GZ34/5AR4 แล้วคนขายบอกว่าไม่มีมีแต่เบอร์นี้ใช้แทนกันได้ (ความจริงมารู้ตอนหลังว่ามันแทนกันไม่ได้ทั้งหมด) แม้จะได้มาราคาสูงหน่อย แต่ของแบบนี้ คนซื้อพอใจ คนขายพอใจ ก็จ่ายเงินแล้วเอาของไป เรื่องแบบนี้อย่าไปคิดมาก

ผมเอาหลอดนี้มาต่อแอมป์ Single Ended จ่ายไฟให้กับหลอด 2A3 Single Plate ที่ผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งเอามาให้ทำเล่น หนึ่งคู่ส่วนหลอดหน้าก็ใช้ 6C5 ต่อแบบประหยัดๆ ส่วนหม้อแปลงก็ให้กรุงธนฯ เขาพันมาให้ ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าหลอดนี้มันหายากและราคาสูง ก็เลยทำฟังอยู่นานแต่ตอนหลังมารู้เข้าก็เลยเสียดายจะเอาไปคืนเขาเพราะเกรงใจ แต่เจ้าของเก่าเขาบอกว่าเขาให้ ก็เลยถอดเก็บใสลังเอาไว้รอของที่จะทำประสิทธิภาพได้มากกว่านี้แล้วค่อยเอาออกมาใช้ สุดท้ายผมก็ไม่มีโอกาสได้ใช้หลอดคู่นี้อีก เพราะกล่องเก็บหลอดถูกวางทับด้วยกล่องหนังสือและเมื่อเวลาผ่านไปหลอดที่อยู่ข้างในก็บาดเจ้บล้มตายไปเพราะรับน้ำหนังของกล่องที่เอามาซ้อนไว้ไม่ไหว
แม้ว่าจะใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้ดีเด่นอะไร แต่สิ่งที่ผมได้จากแอมป์ตัวนี้คือ 5Y3GT ใช้กับ 2A3 น่าจะเข้ากันที่สุด (ในความคิดของผม)

ตอนที่ไปคลองถมใหม่ๆเมื่อหลายปีก่อนผมเคยซื้อหลอด RCA 5U4G ที่เสียแล้วติดมือมาด้วย มันเป็นหลอดที่รั่วแล้วแต่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าแบบนี้คือของเสีย สารสีดำเงาที่อยู่ข้างในกลายเป็นสีขาวแล้วผมยังซื้อ หลอดนี้ก็เป็นครูอีกเช่นกัน ว่าหลอดที่เสียแล้วมันเป็นแบบไหน ช่วงที่ยังเก้บหลอดนี้เอาไว้ ผมมักจะเอาออกมาดูก่อนไปซื้อหลอดแถวคลองถม ผมเสียค่าครูไปร้อยบาท กับประสบการณ์ที่ได้
ช่วงที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมพักอยู่กับน้องสาว ด้วยความที่อยากต่อปรีแอมป์ ECL84 ที่มีหลอดอยู่ แต่หาแท่นไม่ได้และไม่เคยฟังหลอดนี้มาก่อน ก็เลยต่อแบบกระสือเอาไว้ก่อน ปัญหามันคือ น้องสาวทำความสะอาดบ้านแล้วโดนไฟที่ค้างอยู่ในตัวเก็บประจุดูดจนล้มทั้งยืน ช่วงนั้นผมเครียดมากเลย หยุดต่อแอมป์เล่นไปได้ไม่นาน อดินาลีนก็สั่งให้ทำอีกแต่ต้องหาแท่นให้ได้ก่อน ต่อแบบกระสือคงอัตรายเกินไป

หลังจากอ่านบทความเรื่อง Dynakit ST70 ของดร. วีระศักดิ์ ตอนสมัยม. ปลายก็มีความตั้งใจที่จะหามาไว้เป็นของตัวเองให้ได้สักตัวหนึ่งแต่คิดว่าคงจะหาได้ยากในเมืองไทยและถ้าจะมีใครขายเขาคงตั้งราคาแบบที่เราจับไม่ได้ และผมโชคดีมีผู้ใหญ่ใจดีตั้งใจจะขายให้ ผมโทรศัพท์ไปถามราบละเอียดและนักกันเพื่อดูสภาพของเครื่องฯ เจ้าของเครื่องเป็นอาจารย์สอนศิลปะอยู่ในมหาวิทยาลัย แอมป์ตัวนี้เขาไม่ได้ใช้แล้วเพราะเขามี VV52SE Custom Built ที่คุณย้ง (Grand Pacific) ทำให้ (แอมป์ VV52B ตัวนี้ตอนหลังอาจารย์เขาก็ยกให้ผมแถมปรีให้สองตัว) ผมตกลงซื้อ ST70 ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ฟังเสียงเลย แอมป์ตัวนี้เป็นแบบคิทที่ประกอบมาจากโรงงาน ทุกวันนี้มันกลายเป็นที่วางรีโมทของแม่บ้านไฟแล้ว เพราะผมกลัวมันจะพังเลยไม่ได้ใช้มัน หลังจากได้แอมป์ตัวนี้มาแล้วผมประทับใจในเสียงที่ได้ก็เลยหาอีกตัวหนึ่ง ก็ไปได้ SCA-35 มาจากคุณเต้อ (ตอนนั้นร้านอยู่ที่สำโรง) แล้วชอบตัวหลังนี้มากกว่า ด้วยความที่เป็น Integrated Amplifier มีขนาดและน้ำหนักน้อยกว่า ST70 เยอะ ผมเลยเอาตัวนี้ไปฟังที่โคราชตอนที่ย้ายงานไปที่นั่น แอมป์ตัวนี้ตอนนี้เสียเพราะใช้ไฟร้อยสิบ แต่แม่บ้านเอาไปเสียบกับไฟบ้านตรงๆ เลย แอมป์ตัวนี้เป็นของชิ้นแรกที่ผมยกให้ผู้หญิงไปฟัง หลังจากตัวนี้ฟังไม่ได้เพราะยกไฟให้สาวญี่ปุ่นฟังผมก็กลับมายก 6J5+807SE+83 ขึ้นไปที่โคราชเพื่อฟังแทน

แอมป์ VV52B SE ที่ได้มาผมก็เอามานั่งแกะวงจรและดูรูปแบบของการต่อใช้งานและเริ่มลื้อทำวงจรขับใหม่ๆ ก็ได้ครูเครื่องใหม่อีกหลายปีก่อนที่หลอดข้างหนึ่งจะรั่วไป

ผมมักจะทำแอมป์จากหลอดที่ราคาไม่สูงมากนักและไม่ค่อยมีคนสนใจ (ในตอนนั้น) เช่น หลอด 6C5 6J5 ที่เป็นหลอดเหล็กและหลอดแก้ว คนส่วนใหญ่เดินหา 6SN7GT แต่หลอดนี้แม้จะไม่ถูก Reviews จากสำนักใหญ่ๆ แต่ในหมู่ DIY เป็นของดีที่ราคาไม่สูงมาก แต่นั่นก็หลังจากที่ผมหาหลอด ECC8_ ไม่ค่อยได้แล้วจึงหันไปหา หลอดเหล่านี้ซึ่งก็พบว่าของดีๆ มีอยู่แต่ทำไมเรามองข้ามมาตั้งนาน ผมเจอพี่คนหนึ่งที่คลองถมตอนที่ไปครั้งแรก แล้วมักถามหาหลอดที่ผมรู้จัก แต่มักจะได้คำตอบว่าไม่มี พี่คนนี้เขาเลยเอาหลอดให้มาสองสามคู่ แล้วบอกว่าลองเอาไปทำเล่นดู ผมหาข้อมูลและวงจรตัวอย่างไม่นานหนักก็ต่อเล่นๆ ฟังเทียบกับปรีตัวเก่าที่ทำเองอีกเช่นกัน ผมพบว่ามันเสียงใช้ได้ในราคาค่าตัวที่ถูกกว่ามาก

หลอดที่ผมได้มานั้น มี 6C5 6J5 ซึ่งเป็นหลอดเหล็กสีดำสนิมแดงทั้งตัวเลย วันหนึ่งเดินผ่านหลอด 5693 Red Body ผมยังคิดว่ามันเป็นหลอด Triode ก็เลยเอามาเก็บไว้นานเหมือนกัน แต่พอดูข้อมูลแล้วมันเป็นหลอด 6SJ7 ซึ่งเป็น Pentode มันมีหลอดเดียวและหาคู่ไม่ได้อยู่นาน ทำแอมป์สเตอริโอไม่ได้ผมก็เก็บเอาไว้นานพอสมควร จนกระทั่งรู้ว่า Mr. Tube ก็หาคู่อยู่เหมือนกันก็เลยเอาไปให้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าอยู่กับผม ผมคงทำประสิทธิภาพสูงสุดของหลอดเบอร์นี้ไม่ได้ ก็เลยให้ Mr. Tube เอาไปทำแอมป์แล้วจะมาขอฟัง หลอดนี้เสียบอยู่กับแอมป์ The Best YB2005 ส่วนผมก็ไปฝึกปรือฝีมือกับ input Pentode กับหลอด 6SJ7 ทั้งที่เป็นเหล็กและเป็นแก้ว รวมถึงหลอด 6J7 หัวจุกที่เก็บไว้นานแล้วเพราะตอนที่ได้หลอดมาผมหา Grid Cap ไม่ได้ก็เลยต้องบัดกรีลงไปตรงๆ

ผมเริ่มศึกษาและทำความรู้จักกับหลอดหลังจากอ่านบทความของ ดร. วีระศักดิ์ ซึงถาวร ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร What's Hi-Fi ช่วงที่คุณวิจิตร บุญชู เป็น บก. โดยหนังสือที่ได้มาก็ไปพบโดยบังเอิญ เพราะบ้านใกล้กันเขาย้ายบ้านแล้วหนังสือมากองทิ้งรอรถซาเล้งมารับซื้อผมเสียดายหนังสือเพราะตอนที่เรียนอยู่ต้องทำงานพิเศษช่วงปิดเทอมเพื่อเก็บเงินซื้อหนังสืออ่านนอกเวลา (พวกคู่มือฯ วิชาต่างๆ) หลังจากได้หนังสือมาแล้วก็เอามาอ่านและสนใจเรื่องหลอด ที่หันมาสนใจเพราะอยากรู้ว่าทำไม จึงยังมีคนสนใจเรื่องหลอดอยู่และช่วงนั้นหลอดมีราคาถูกมาก (หลอดดีๆ จากอเมริกา และยุโรป ถูกกองใส่ลังกระดาษอยู่บนทางเท้า หลายร้านย่านบ้านหม้อ ราคาอยู่ที่หลอดละสามสิบ ถ้าซื้อเยอะมีแถมด้วย แต่ผมเองไม่ค่อยได้ของแถมเพราะซื้อแค่ที่จะใช้ จะมีแค่บางครั้งที่เขาให้เอามาลองทำเล่นดู) นักเรียนมัธยมปลายที่มีตังค์ในกระเป๋าไม่มากจึงเริ่มเรียนรู้และทดลองทำดูบ้าง โดยเริ่มจากหลอดเก้าขาเล็กๆ แบบหนึ่งหลอดทำสเตอริโอได้ อุปกรณ์ไม่มากนักลงทุนไม่เยอะ และการที่มันลงทุนไม่เยอะและอุปกรณ์น้อยชิ้นนี่เองมันทำให้เราสนุกอยู่กับการปรับแต่ง เครื่องที่ทำจนอุปกรณ์เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ จกปรีแอมป์ตัวเล็กๆ ตัวเดียว ผมสนุกอยู่กับหลอด ECC88/6DJ8 อยู่นานมากจนเรียนจบม.ปลายแล้วก็ยังใช้ปรีแอมป์ตัวนี้อยู่ ตอนหลังเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแล้วเขาไม่ให้เอาเครื่องเสียงขึ้นไปใช้บนหอพักก็เลยต้องใช้วิธีแบบกองทัพมดขนอุปกรณ์ทีละชิ้นขึ้นไปแทน เวลาที่รปภ. ถามก็บอกเขาว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานส่งอาจารย์ ประกอบเครื่องไม่นานก็มีเสียงให้พอได้ฟังเวลานั่งอ่านหนังสือ แต่ต้องไปยืมแอมป์เล็กๆ ของเพื่อนมาฟังก่อนเพราะแอมป์ของผมมันมีปัญหา
ช่วงนั้นผมยังคงใช้แอมป์ Mosfet ที่ประกอบจากชุดคิทเอง แต่แอมป์ยี่ห้อนี้เขาวางยาผมด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าจะซ่อมตรงไหน มันออสซิลเลตตลอดเพราะ ตัวเก็บประจุ โพลีสไตลีน (ซีแก้วตัวเล็กๆ) ที่เขาให้มาในชุดคิทมันไม่ตรงกับวงจร ผมแก้แอมป์ตัวนี้อยู่เป็นปี จาก J49+K134 คู่ละสองสามร้อย ช่วงที่ทำเสร็จมันน่าจะเป็นคู่สุดท้ายในโคราชแล้วที่ผมได้มันมา ที่ราคาพันห้าร้อย (เก็บเงินค่าขนมอย่างทรมาน) กว่าจะเสร็จได้ผมก็เรียนผ่านวิชา Principle of Electronics ที่เขาสอนเรื่อง Feedback เพื่อนของผมแนะนำให้เอา Mosfet ทรงจานบิน UFO ที่เสียๆ มาร้อยทำเข็มขัด การถูกวางยามันเป็นข้อดีเพราะทำให้ผมพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะลงมือทำแอมป์ตัวต่อๆ มา แต่ช่วงนั้นผมโกรธร้านที่ซื้อมามากๆ เพราะหมดไปเยอะแล้วแก้ไม่หาย
หลังจากปราบแอมป์ตัวนี้ได้ ผมก็ไม่ได้ใช้มันอีก (หลังเรียนจบแล้วก็ยังเก็บไว้หลายปีจนมีพี่ที่ทำงานด้วยกันมาขอไปใช้) ผมเริ่มทำแอมป์หลอดแบบ SE ง่ายๆ โดยเก็บเงินช่วงปีสองกับปีสามรวมกันไปซื้อแอมป์ของ Grand Pacific ที่ใช้หลอด 6SL7GT+EL34+GZ34 เอามาฟังคู่กับปรีน่าตาน่าเกลียดที่มีอยู่ ตอนแรกก็ไม่อยากลื้อทำอะไร แต่ตอนหลังอยากเปลี่ยนหลอดหน้าเป็นเบอร์อื่นๆ ฟังดูบ้างก็เลยค่อยๆ ทดลองทำในแท่นเดิม แอมป์ตัวนี้เป็นแอมป์ครูของผมเลยเพราะลองจนสายไฟจากหม้อแปลงสั้นลงเรื่อยๆ จนต้องต่อสาย (ช่วงหลังผมได้ปรีของเขามาอีกคู่หนึ่งแต่เป็นคนละรุ่นกัน) แอมป์และปรีที่ได้มาถูกลื้อทำและทดลองหลอดที่จะหามาทดลองได้ แต่ช่วงนั้นราคาของหลอดก็กลับขึ้นมาและเริ่มหมดไปจากบ้านหม้อบ้างแล้ว เพราะเริ่มมีคนหันมาสนใจกันมากขึ้น
ผมหาเพื่อนที่ทำแอมป์หลอดฟังเองอยู่นานจนกระทั่ง ผมได้มีโอกาสรู้จัก Mr. Tube โดยบังเอิญ